วิธีเลือกเลนส์กล้อง DSLR ให้เหมาะกับเรา

Leaf-shutter-lenses-new-family.ashx

ผมคิดว่าหลายท่านโดยเฉพาะมือใหม่ที่ต้องการหาซื้อเลนส์คงมีปัณหาไม่ต่างจากผมในตอนแรกคือ จะซื้อเลนส์อะไรดี ค่าต่างๆที่เขียนอยู่บนตัวเลนส์มันหมายความว่าอะไร มันต่างกันตรงไหน มันสามารถใช่กับกล้องเราได้หรือเปล่า ผมเชื่อว่าคำถามเหล่านี้คงลอยเข้ามาในหัว บทความต่อไปนี้ผมจะอธิบายสิ่งหลักๆที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และอย่างน้อยทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจและสามารถเลือกซื้อเลนส์ที่ตรงกับความต้องการได้ครับ และเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นผมจะพูดถึงเลนส์จาก 2 ค่ายที่เป็นที่นิยมคือ Nikon และ Canon เป็นตัวอย่างในบทความต่อไปนี้ครับ

ประเภทของเลนส์

Normal Lens : เลนส์ นอร์มอล

คือเลนส์ที่ใช่งานทั่วไป เลนส์แบบนี้จะมีระยะการมองภาพใกล้เคียงสายตาของคนเรา ส่วนใหญ่ที่เห็นกันจะมีระยะทางยาวโฟกัส เช่น 18-55mm , 24-85mm

Telephoto Lens : เลนส์ เทเล

คือเลนส์ที่สามารถถ่ายได้ไกลมุมมองที่แคบ ส่วนมากจะมีระยะประมาณ 70mm ขึ้นไป เช่น 55-200mm, 70-200mm

Wide Lens : เลนส์ มุมกว้าง หรือ เลนส์ไวด์

คือเลนส์ที่สามารถถ่ายได้ใกล้และมีมุมมองที่กว้าง ส่วนใหญ่ที่เห็นกันจะมีระยะทางยาวโฟกัส เช่น 10-24mm , 14-24mm ภาพที่ได้จะมีความบิดเบือนสูง

Special Lens : เลนส์ชนิดพิเศษอื่นๆ

เลนส์มาโคร (Macro Lens) เลนส์แบบนี้จะมีช่วงทางยาวโฟกัสที่ยาว เช่น 90, 100 หรือ 180 มม. เลนส์แบบนี้จะให้ความคมชัดสูงมาก และสามารถโฟกัสที่วัตถุได้ใกล้มาก สามารถจ่อเลนส์จนเกือบติดตัวแบบก็ได้ เหมาะกับการถ่ายมดแมลงหรือดอกไม้แบบใกล้ๆ

เลนส์ตาปลา (Fish Eye Lens) ภาพที่ได้จากเลนส์แบบนี้จะคล้ายๆกับภาพตาปลา เป็นเลนส์ที่มุมกว้างมากๆ และมีทั้งแบบที่ให้ภาพแบบเป็นวงกลม และแบบเต็มภาพ การบิดเบือนจะมีมากที่ขอบภาพ

เลนส์ชิฟท์ (Shift Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถแก้ระนาบ perspective ได้ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการถ่ายภาพแนว “สถาปัตยกรรม” เพราะจะได้ภาพอาคารที่ไม่บิดเบือน

Canon-Ultra-Wide-Angle-Lenses

Zoom and Fix Lens : เลนส์ซูมและเลนส์ฟิกส์

เลนส์ในแต่ล่ะประเภทโดยเฉพาะ3ช่วงที่ได้กล่าวไปข้างต้นมีทั้งแบบซูมและฟิกส์ ถ้าจะอธิบายง่ายๆก็คือเลนส์ซูมนั้นสามารถซูมเข้าออกได้ เช่น เลนส์ AF-S DX NIKKOR 18-55mm f/3.5-5.6G VR ส่วนเลนส์ฟิกส์มีทางยาวโฟกัสเดียว เช่น เลนส์ Canon EF 50mm f/1.4 USM

คุณใช้กล้องแบบไหน

อย่างที่เราทราบกันดีว่ากล้อง DSLR มี 2 แบบหลักๆคือกล้องแบบ Half Frame หรือกล้องตัวคูณและแบบฟูลเฟรม สำหรับเลนส์ก็เช่นเดียวกัน ที่มีไว้สำหรับกล้องทั้ง 2 แบบ ข้อสังเกตหลักๆในการดูเบื้องต้นคืิอ

Nikon เลนส์สำหรับกล้องตัวคูณจะมีคำว่า DX อยู่เสมอ แต่สำหรับ FX format หรือฟูลเฟรมจะไม่มีเขียนบอก แต่เป็นอันเข้าใจว่าใช้กับฟูลเฟรมได้

Canon สำหรับค่ายนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วย EF-S จะเป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับกล้องตัวคูณในระบบ EOS ครับ ถ้าเป็น EF จะใช้กับกล้องฟูลเฟรมครับ

ต่อไปนี้เรามาดูตัวอย่างจริงกันดีกว่าครับ จะได้เห็นภาพกันจริงๆ อยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกตามผมไปด้วย

วิธีการอ่านค่าต่างๆของตัวเลนส์

product_01

AF-S NIKKOR 24-120mm f/4G ED VR จากตัวอย่างนี้คือเลนส์นอร์มอลจากค่าย Nikon ตัว AF-S คือเลนส์นี้มีมอเตอร์สำหรับปรับโฟกัสในตัว ถ้าไม่มี S แสดงว่าไม่มีมอเตอร์ในตัวนั้นเองครับ 24-120mm คือตัวบอกระยะทางยาวโฟกัสกว้างสุด 24mm และสามารถซูมได้แคบที่สุด 120mm ต่อมา f/4G คือเลนส์ตัวนี้มีค่า f หรือรูรับแสงกว้างสุดที่ f 4 ตัว G ที่ต่อท้ายคือ ไม่มีวงแหวนปรับรู้รับแสงบนเลนส์ ตัว ED = Extra low Dispersion คือเลนส์คุณภาพสูง ลดอาการขอบม่วง VR  คือ ระบบกันสั่นเวลาถ่ายภาพ

EF_28-300mm_f3.5-5.6L_IS_USM_Default_tcm14-939762

Canon EF 28-300mm f/3.5-5.6L IS USM อันนี้เป็นตัวอย่างเลนส์เทเลจากค่าย Canon ตัว EF = Electro Focus เมาท์มาตรฐานของเลนส์ Canon ที่เป็นกล้องฟิลม์และ DSLR Full frame ทุกตัว ระยะทางยาวโฟกัสกว้างสุด 28mm และสามารถซูมได้แคบที่สุด 300mm ต่อมา f/3.5-5.6L จะสังเกตได้ว่าทำไมมีค่า f สองตัว ที่จริงคือเวลาเราซูมกว้างสุดที่ 28mm เราจะสามารถใช่ค่า f กว้างสุดที่ 3.5 แต่พอเราเริ่มซูมภาพไปเรื่อยๆค่า f จะเริ่มลดทอนตามกลไกของตัวเลนส์ไปด้วย คือที่ระยะ 300mm เราจะสามารถใช่ค่าf ได้กว้างที่สุดแค่ 5.6 เท่านั้นครับ ตัว L = Luxury Grade คือเลนส์คุณภาพสูงของ Canon หรือเหมือนที่หลายๆท่านคงเคยได้ยินติดหูว่า เลนส์ L ตัว IS คือ ระบบกันสั่นเวลาถ่ายภาพ USM คือมีมอเตอร์ focus ความไวสูงและเงียบ

product_35mm

AF-S DX NIKKOR 35mm f/1.8G ตัวนี้เป็นเลนส์ฟิกส์จากค่าย Nikon  AF-S คือเลนส์นี้มีมอเตอร์สำหรับปรับโฟกัสในตัว DX เป็นเลนส์ที่ใช้กับกล้องตัวคูณ ระยะทางยาวโฟกัสเดียวคือ 35mm f กว้างสุดที่ 1.8  G ที่ต่อท้ายคือ ไม่มีวงแหวนปรับรู้รับแสงบนตัวเลนส์

ตัวอักษรอื่นๆนอกเหนือจากนี้ผมไม่อยากอยากอธิบายเยอะเกินไปเหมือนท่องจำไปสอบ เพราะเลนส์แต่ล่ะยี่ห้อก็ตั้งชื่อของเขาแตกต่างกันออกไปให้ดูดีมีระดับ ทั้งนี้ผมคิดว่า ถ้าท่านสนใจยี่ห้อใดสามารถศึกษาเพิ่มเติ่มได้ตามเวปของยี่ห้อเลนส์นั้นๆจะดีกว่าครับ

lenses

แล้วเราควรมีเลนส์ตัวใดไว้บ้าง

ถ้าให้ผมตอบแบบง่ายๆ ก็ควรจะต้องมีเลนส์ทุกช่วงล่ะครับ ถ้ารักจะถ่ายภาพจริงๆ (หลายคนคงเกาหัวแล้วด่าในใจ “ไอ้สลัด ตรูอ่านมาตั้งนาน”) โดยพื้นฐานก็ควรเริ่มจากเลนส์นอมอล์ก่อนเลยครับ หรือบ้างคนอาจใช้เลนส์ Kit ที่มากับกล้องก็ไม่เสียหายอะไรครับ เช่น 18-55mm หรือ 24-85mm สำหรับผมนี้คือเลนส์เอนกประสงค์ที่ถ่ายได้เกือบทุกสถานการณ์ นักถ่ายภาพหลายคนรวมถึงผมชอบพกเลนส์แบบนี้ไว้ตลอด พยายามใช่ให้คล่องก่อนแล้วถึงไปซื้อเลนส์ชนิดอื่นๆ ต่อไปก็ดีครับ

จากนั้นเราต้องถามตัวเองแล้วล่ะครับว่าเราเป็นชอบภาพถ่ายแนวไหน ของผมเริ่มจากเลนส์ไวด์ก่อน 14-24mm เพราะผมชอบถ่ายรูปเมือง Lanscape, interior ของห้อง ซึ่งมันตอบโจทย์ของผมได้ดีมากๆ (ในตอนแรกเริ่มผมมีเลนส์แค่ 2 ตัวนี้เองครับ) ส่วนใครชอบถ่ายแบบเจาะรายละเอียด Potrait แบบหน้าชัดหลังเบลอๆ ถ่ายรูปสัตว์ระยะไกลๆ ก็ซื้อเลนส์เทเลก่อนเลยครับ เช่น 70-200mm หรือจะ 70-300mm ไปเลยอันนี้แล้วแต่งบน่ะครับ บ้างคนก็ซื้อ 18-200mm ตัวเดียวใช่ได้ครบเลยครับ เลนส์อีกตัวที่อยากแนะนำเพิ่มเติมคือเลนส์ฟิกส์ 50mm ถ้าเป็นกล้องตัวคูณอาจจะเป็น 35mm ผมเชื่อว่าตากล้องเกือบทุกคนต้องมี ว่ากันว่าที่ระยะ 50mm เป็นระยะที่ใกล้เคียงกับสายตาเรามากที่สุด เวลาถ่ายภาพออกมาจะได้ภาพที่สมจริงเหมือนที่ตาเรามองเห็น

จะเห็นน่ะครับว่าถ้าเราวางแผนการซื้อดีๆ เราจะไม่ต้องซื้อเลนส์มากๆ แต่ได้ทุกช่วงของทางยาวโฟกัสเลย

ภาพตัวอย่างจากเลนส์แต่ล่ะแบบ

Screen shot 2013-08-06 at 1.04.05 AM

เลนส์ไวด์ 14-24mm f/2.8

sample2_l

เลนส์เทเล 80-400m f/4.5-5.6

Beautiful-Ladybugs-Macro-Photography-Wallpaper-HD

เลนส์มาโคร 60mm f/2.8

sample1_l

เลนส์ฟิกส์ 50mm f/1.4

เพิ่มเติม

เลนส์ของฟูลเฟรมสามารถนำไปใช้ในกล้องตัวคูณได้ แต่อาจจะไม่ได้ใช้แบบเต็มประสิทธิภาพของตัวเลนส์เองในบางกรณี มันก็เหมือนเราขับรถ Honda Jazz แต่เติ่มน้ำมัน เบนซิน 95 คือใช้ด้วยกันได้แต่จะเป็นการเปลืองเงินโดยเกินความจำเป็นหรือเปล่า เพราะเลนส์แบบฟูลเฟรมจะมีราคาค่อนข้างสูง บ้างตัวราคาแพงกว่าตัวกล้องเสียอีก ในทางกลับกันเลนส์ตัวคูณบางรุ่นก็สามารถใช้ในกล้องฟูลเฟรมได้ แต่ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน เราซื้อกล้องดีๆเพื่อจะมาถ่ายภาพแบบฟูลเฟรมเก็บทุกรายละเอียดแต่ต้องมาติดขอบดำของตัวเลนส์ ถึงกล้อง Nikon รุ่นโปรส่วนมากสามารถถ่ายแบบ DX modeได้ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรจริงไหมครับ

ส่วนการเลือกซื้อเลนส์ซูมนั้น หากสามารถหาซื้อเลนส์ซูมแบบที่ขนาดรูรับแสงคงที่ตลอดช่วง จะดีกว่าแบบที่ขนาดรูรับแสง เปลี่ยนไปตามช่วงซูม เพราะจะทำให้ค่าการรับแสงคงที่ ไม่เปลี่ยนไปมา แพงหน่อย แต่ใช้คุ้มกว่า

ส่วนเลนส์ฟิกซ์นั้นมีราคาเริ่มต้นที่ไม่แพง มีขนาดรูรับแสงกว้าง ให้ความคมชัดสูง แต่ขอเสียคือถ้าจะถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆกัน ต้องพกเลนส์ไปหลายๆตัว

บทสรุป

มาถึงตรงนี้ผมคิดว่าทุกท่านคงได้ไอเดียในการเลือกเลนส์ไปไม่มากก็น้อยแล้วนะครับ การเลือกเลนส์ให้ตรงกับการใช้งานทำให้ทุ่นแรงเราไปได้เยอะและยังสามารถถ่ายภาพให้ออกมาได้อย่างที่ใจคิด ผมขอบอกอีกครั้งครับว่าไม่มีใครรู้ใจท่านดีเท่าตัวคุณเอง สรุปการเลือกเลนส์คือ รูปแบบของรูปถ่ายที่เราอยากถ่าย กล้องที่ท่านใช่ เงินในกระเป๋า อย่าคิดง่ายๆว่าใช้เลนส์แพงแล้วต้องถ่ายรูปสวยเสมอไปนะครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญและการหมั่นฝึกซ่อมของตัวท่านเอง ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ